วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

ละครพันทาง เรื่อง พระลอ
ตอน พระลอตามไก่

-รัว-
-ร้องเพลงลาวเจ้าซู-
ท้าว ธ ผาด เห็นไก่ตระการ ภูบาลบานหฤทัย
งามพอใจ พอตา มิทันธาธารธำรง ทรงมงกุฎภูษาสรรพ
จับพิชัยอาวุธราชพล บัดดล ธ รุกไล่
หวังได้ไก่ตัวงาม พี่เลี้ยงตามจอมราช ครั้นคราดไก่หยุดท่า
เห็น ธ ซ้ำไก่ขันเรียก ไก่กระเหวียกตาดู
ครั้นภูธระ จะไก่ค่อยผันค่อยผาย ระร่ายส่ายตีนเดิน
ดำเนินหงส์ยกย่าง ครั้นเห็นห่างไก่หยุด
ครั้นจะสุดแดนป่า ครั้นจะผ่าแดนบ้าน ไก่แกล้งคร้านมารยา
เห็นไก่ช้า ธ ก็สาว ทรงยืดยาวย่นสั้น
เหย่าใหญ่ๆ ไล่กระชั้น ไก่แกล้งกระเจิงโผ

-เชิดฉิ่ง-
ไก่แก้ว กล้าแกล้วกายสิทธิ์ฤทธิ์ผีสิง
เลี้ยวล่อลอราชฉลาดจริง เพราพริ้งหงอนสร้อยสวยสะอาง
ทำทีแล่นถลาให้คว้าเหมาะ ย่างเหยาะกรีดปีกไซร้หาง
ครั้นพระลอไล่กระชั้นกั้นกลาง ไก่ผันหันห่างราชา
ฉับเฉียวเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน วนเวียนหลบเวิ้งเพิงพฤกษา
ขันเฉื่อยเรื่อยก้องห้องวนา ทำท่าเยาะเย้ยภูมี

----------------------

ระบำ รำฟ้อน


ระบำ รำ ฟ้อน
การแสดงนาฏศิลป์ไทยมีการแบ่งรูปแบบการแสดงได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบมุ่งเน้นเรื่องราวและไม่มุ่งเน้นเรื่องราว แต่ก็มีผู้ใช้คำเรียกไม่ถูกต้องชัดเจน อาจเนื่องจากไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริง ในที่นี้จึงขออธิบายคำสามคำที่มักเรียกคล้องจองกันและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป นั่นคือคำว่า ระบำ รำ ฟ้อน
ระบำ รำ ฟ้อน เป็นคำกล่าวถึงรูปแบบการแสดงรูปแบบหนึ่ง ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ว่า
ระบำ หมายถึง การแสดงที่ใช้ท่าฟ้อนรำไม่เป็นเรื่องราว มุ่งความสวยงามหรือความบันเทิง เช่นระบำนพรัตน์ ระบำกอย ระบำฉุยฉาย ก. ฟ้อนรำที่ไม่เป็นเรื่องราว มุ่งความสวยงามหรือความบันเทิง จะแสดงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้
รำ หมายถึง ก. แสดงท่าเคลื่อนไหวโดยมีลีลาและแบบท่าเข้ากับจังหวะเพลงร้องหรือเพลงดนตรี เช่น รำฉุยฉายพราหมณ์ รำกฤดาภินิหาร รำสีนวล,ถ้าถืออาวุธประกอบก็เรียกชื่อตามอาวุธที่ถือ เช่น รำดาบ รำทวน รำกริช ถ้าถือสิ่งของใดประกอบก็เรียกชื่อตามสิ่งของนั้น เช่น รำพัด รำดอกไม้เงินดอกไม้ทอง,อาการแสดงท่าที่คล้ายคลึงเช่นนั้น ,ฟ้อน
ฟ้อน หมายถึง รำ , กราย
เห็นได้ว่าคำว่าระบำ รำ ฟ้อน มุ่งความสวยงามและความบันเทิง ไม่เน้นเรื่องราวแบบละคร นอกจากนี้ปรมาจารย์ทางนาฏศิลป์ไทยยังแบ่งรูปแบบ ระบำ รำ ฟ้อน ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยว่า
ระบำ เป็นการแสดงเป็นหมู่ เน้นความพร้อมเพรียง การแปรแถวเป็นหลัก ไม่เน้นเรื่องราว ส่วนรำ เป็นการรำเดียวหรือรำคู่ก็ได้ มักใช้แสดงเพื่ออวดฝีมือ และฟ้อนนั้น มักเป็นการแสดงของ ภาคเหนือที่ค่อนข้างช้า นุ่มนวลแช่มช้อย เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนมาลัย และมีคำว่า เซิ้ง ซึ่งใช้กับการแสดงของภาคอีสาน การเซิ้งแต่เดิมมักใช้ในพิธีกรรมบางอย่าง เช่น เซิ้งนางแมว เซิ้งบั้งไฟ มีคำร้องประกอบ เรียก กาพย์เซิ้ง เน้นดนตรีซึ่งหนักไปทางจังหวะ แต่ปัจจุบันมักเรียกการแสดงของอีสานว่าเซิ้งเกือบทุกชุด เช่น เซิ้ง กระติ๊บ เซิ้งสวิง เซิ้งกะโป๋ เป็นต้น
นอกจากนี้ ระบำ รำ ฟ้อน เป็นการแสดงที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆ ก่อนการแสดงประเภทอื่น บรรดาผู้ฟ้อนมิใช่ช่างฟ้อนหรือผู้แสดงโดยตรง แต่ล้วนเป็นกลุ่มชาวบ้านในชุมชนและมีวิถีชีวิตร่วมกัน มักเกิดขึ้นในงานประเพณีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนหรือชนเผ่า ต่อมาจึงได้แพร่หลายเข้าสู่ ราชสำนักและปรุงแต่งเพิ่มเติมจนกลายเป็นกระบวน ระบำ รำ ฟ้อน ดังเช่นในปัจจุบัน

***********************************************

นาฏศิลป์ไทยในสังคมปัจจุบัน


นาฏศิลป์ไทยในสังคมปัจจุบัน
เมื่อกล่าวถึงคำว่า นาฏศิลป์ไทย ทุกท่านคงนึกถึงภาพ คนแต่งกายแบบละคร สวมชฎา มงกุฎ ทำท่าร่ายรำตามทำนองเพลง และมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่โบราณ คร่ำครึ ไม่เข้ากับสังคมยุคสมัยปัจจุบัน ที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องรวดเร็ว ฉับไว และดูเป็นสากล แต่คงไม่มีใครทราบว่าสิ่งที่ท่านมองเห็นว่าล้าหลังนั้น เป็นเครื่องยืนยันถึงอดีต ความเป็นมาและวัฒนธรรมที่สั่งสม อันมีคุณค่ายิ่งของชาติไทย
คำว่า นาฏศิลป์ ตามความหมายของพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
นาฏ – น. นางละคร นางฟ้อนรำ ไทยใช้หมายถึง หญิงสาวสวย เช่น นางนาฏ
นาฏกรรม - น. การละคร ฟ้อนรำ
นาฏศิลป์ - น. ศิลปะแห่งการละครหรือการฟ้อนรำ
นอกเหนือจากนี้ ยังมีท่านผู้รู้ได้ให้ความหมายของคำว่า นาฏศิลป์ ในแง่มุมต่างๆ ไว้ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ทรงอธิบายถึงกำเนิดและวิวัฒนาการของนาฏศิลป์ที่ผูกพันกับมนุษย์ ดังนี้
“ การฟ้อนรำ ย่อมเป็นประเพณี ในเหล่ามนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ไม่เลือกว่าจะอยู่ ณ ประเทศถิ่นสถานที่ใดในพิภพนี้ คงมีวิธีการฟ้อนรำตามวิสัยชาติของตนด้วยกันทั้งนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ถึงแม้สัตว์เดรัจฉานก็มีวิธีฟ้อนรำ ดังเช่น สุนัขกาไก่ เป็นต้น เวลาใดที่สบอารมณ์มันเข้ามันก็เต้นโลดกรีดกรายทำกิริยาท่าทางได้ต่างๆ ฯลฯ “
อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ได้ให้ความหมายของนาฏศิลป์ ไว้ดังนี้
“ คำว่า นาฏยะ หรือ นาฏะ ความจริงมีความหมายรวมเอาศิลปะ 3 อย่างไว้ด้วยกัน คือ การฟ้อนรำหนึ่ง การบรรเลงดนตรีหนึ่ง และการขับร้องหนึ่ง หรือพูดอย่างง่ายๆ คำว่า นาฏยะ มีความหมายรวมทั้งการฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรีด้วย ไม่ใช่มีแต่ความหมายเฉพาะศิลปะแห่งการฟ้อนรำอย่างเดียวดั่งที่ท่านเข้าใจกัน “
สรุปความได้ว่า นาฏศิลป์ เป็นศิลปะที่มนุษย์แสดงออกเมื่อเกิดอารมณ์ขึ้น มีวิวัฒนาการมาพร้อมความเจริญของมนุษย์ มีการจัดระเบียบแบบแผนให้เกิดความงดงาม ประกอบไปด้วย การร้อง การรำ และการบรรเลงดนตรี
การแสดงนาฏศิลป์ของไทย ปรากฏในรูปแบบของการละคร ฟ้อน รำ ระบำ เต้น การแสดงพื้นเมืองภาคต่างๆ ซึ่งมีการขับร้องและการบรรเลงดนตรี
รวมอยู่ด้วย ถือกำเนิดขึ้นมาจากธรรมชาติ ความเชื่อ ศาสนา ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ผนวกกับได้รับอารยธรรมจากประเทศอินเดียที่มีความเจริญก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการทางด้านต่างๆ ต่อมาได้มีการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จนกลายมาเป็นนาฏศิลป์ไทยที่มีแบบแผนอย่างเช่นในปัจจุบัน
นาฏศิลป์ไทยในอดีตมีบทบาทสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย บทบาทในงานสำคัญของหลวงพิธีกรรมต่างๆของชาวบ้าน รวมถึงการสร้างความบันเทิงให้กับผู้คนในสังคม เช่นการแสดงลิเก ละคร โขน เพลงพื้นเมืองต่างๆ
เมื่อสังคมยุคปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นาฏศิลป์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองจากที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างในอดีต มาเป็นบทบาททางด้านต่างๆที่สามารถจำแนกบทบาทให้เห็นได้ ดังนี้

1. บทบาททางการศึกษา การแสดงออกทางด้านศิลปะนั้นถือเป็นศาสตร์และศิลป์ ในอดีต
การเรียนของศาสตร์แขนงนี้มักอยู่ในแวดวงที่จำกัดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการเปิดกว้างมากขึ้น มีการจัดตั้งสถานศึกษาสำหรับการสอนนาฏศิลป์ขึ้นหลายแห่ง ทั้งของรัฐ ที่สอนทางด้านนาฏศิลป์ มีหน้าที่ทำนุบำรุงรักษาศิลปะโดยตรง สถานศึกษาของเอกชนที่สอนนาฏศิลป์ให้แก่กุลบุตรกุลธิดา เพื่อส่งเสริมความสามารถและบุคลิกภาพรวมถึงส่งเสริมลักษณะนิสัย
2. บทบาททางธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งบทบาทนี้เห็นได้อย่างชัดเจน ในการ
แสดงตามงานเทศกาลท่องเที่ยวต่างๆ ที่ภาครัฐหรือเอกชนจัดขึ้น จะต้องมีนาฏศิลป์ไทยเข้าไป
เกี่ยวข้องอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบมหรสพสมโภชหรือ การแสดงแสง เสียงสื่อและผสม โดยศิลปะการแสดงเหล่านี้ถือเป็นจุดขายที่สำคัญ นอกเหนือจากนี่ยังมีโรงละครของเอกชนเปิดทำการแสดงเพื่อให้ชาวต่างชาติหรือผู้ที่สนใจเข้าชมดำเนินการในรูปแบบธุรกิจอย่างชัดเจน
3. บทบาทในการอนุรักษ์และเผยแพร่เอกลักษณ์ของชาติ ปัจจุบันวัฒนธรรมต่างชาติมี
บทบาทอย่างมากในสังคมไทย และเป็นไปได้ว่าอนาคตประเทศไทยอาจถูกกลืนทางวัฒนธรรมได้ เพื่อให้ความเป็นไทยคงอยู่ สิ่งที่จะช่วยได้นั่นคือ เอกลักษณ์ของชาติในด้านต่างๆ โดยใช้วิธีการเผยแพร่ อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
จะเห็นได้ว่านาฏศิลป์ไทยได้ปรับตัวให้ดำรงอยู่ได้ในสังคมไทย ช่วยสร้างอาชีพให้กับผู้คน สร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างสังคมหนึ่งกับอีกสังคมหนึ่ง ส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติให้ชัดเจน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าประเทศ และอื่นๆอีกมากมายที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม จึงเห็นได้ว่า สิ่งที่บางท่านอาจมองอย่างไม่เข้าใจ ดูว่าไม่เป็นสากลหรือเข้ากับยุคสมัย แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญระดับชาติที่ช่วยให้ชาติไทยดำรงอยู่ได้ เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองไม่เหมือนประเทศใด จงภูมิใจและช่วยกันรักษาสิ่งนี้ให้คงอยู่กับประเทศไทยต่อไปตราบนานเท่านาน สมดัง ปรัชญาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน ในโอกาสครบรอบ 60 ปี วิทยาลัยนาฏศิลป ว่าไว้ดังนี้


“ สาธุ โข สิปปก นาม อปี ยาทิสกีทิส “
“ ขึ้นชื่อว่าศิลปะ แม้เช่นใดเช่นหนึ่งก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ”