วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

นาฏศิลป์ไทยในสังคมปัจจุบัน


นาฏศิลป์ไทยในสังคมปัจจุบัน
เมื่อกล่าวถึงคำว่า นาฏศิลป์ไทย ทุกท่านคงนึกถึงภาพ คนแต่งกายแบบละคร สวมชฎา มงกุฎ ทำท่าร่ายรำตามทำนองเพลง และมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่โบราณ คร่ำครึ ไม่เข้ากับสังคมยุคสมัยปัจจุบัน ที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องรวดเร็ว ฉับไว และดูเป็นสากล แต่คงไม่มีใครทราบว่าสิ่งที่ท่านมองเห็นว่าล้าหลังนั้น เป็นเครื่องยืนยันถึงอดีต ความเป็นมาและวัฒนธรรมที่สั่งสม อันมีคุณค่ายิ่งของชาติไทย
คำว่า นาฏศิลป์ ตามความหมายของพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
นาฏ – น. นางละคร นางฟ้อนรำ ไทยใช้หมายถึง หญิงสาวสวย เช่น นางนาฏ
นาฏกรรม - น. การละคร ฟ้อนรำ
นาฏศิลป์ - น. ศิลปะแห่งการละครหรือการฟ้อนรำ
นอกเหนือจากนี้ ยังมีท่านผู้รู้ได้ให้ความหมายของคำว่า นาฏศิลป์ ในแง่มุมต่างๆ ไว้ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ทรงอธิบายถึงกำเนิดและวิวัฒนาการของนาฏศิลป์ที่ผูกพันกับมนุษย์ ดังนี้
“ การฟ้อนรำ ย่อมเป็นประเพณี ในเหล่ามนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ไม่เลือกว่าจะอยู่ ณ ประเทศถิ่นสถานที่ใดในพิภพนี้ คงมีวิธีการฟ้อนรำตามวิสัยชาติของตนด้วยกันทั้งนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ถึงแม้สัตว์เดรัจฉานก็มีวิธีฟ้อนรำ ดังเช่น สุนัขกาไก่ เป็นต้น เวลาใดที่สบอารมณ์มันเข้ามันก็เต้นโลดกรีดกรายทำกิริยาท่าทางได้ต่างๆ ฯลฯ “
อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ได้ให้ความหมายของนาฏศิลป์ ไว้ดังนี้
“ คำว่า นาฏยะ หรือ นาฏะ ความจริงมีความหมายรวมเอาศิลปะ 3 อย่างไว้ด้วยกัน คือ การฟ้อนรำหนึ่ง การบรรเลงดนตรีหนึ่ง และการขับร้องหนึ่ง หรือพูดอย่างง่ายๆ คำว่า นาฏยะ มีความหมายรวมทั้งการฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรีด้วย ไม่ใช่มีแต่ความหมายเฉพาะศิลปะแห่งการฟ้อนรำอย่างเดียวดั่งที่ท่านเข้าใจกัน “
สรุปความได้ว่า นาฏศิลป์ เป็นศิลปะที่มนุษย์แสดงออกเมื่อเกิดอารมณ์ขึ้น มีวิวัฒนาการมาพร้อมความเจริญของมนุษย์ มีการจัดระเบียบแบบแผนให้เกิดความงดงาม ประกอบไปด้วย การร้อง การรำ และการบรรเลงดนตรี
การแสดงนาฏศิลป์ของไทย ปรากฏในรูปแบบของการละคร ฟ้อน รำ ระบำ เต้น การแสดงพื้นเมืองภาคต่างๆ ซึ่งมีการขับร้องและการบรรเลงดนตรี
รวมอยู่ด้วย ถือกำเนิดขึ้นมาจากธรรมชาติ ความเชื่อ ศาสนา ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ผนวกกับได้รับอารยธรรมจากประเทศอินเดียที่มีความเจริญก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการทางด้านต่างๆ ต่อมาได้มีการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จนกลายมาเป็นนาฏศิลป์ไทยที่มีแบบแผนอย่างเช่นในปัจจุบัน
นาฏศิลป์ไทยในอดีตมีบทบาทสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย บทบาทในงานสำคัญของหลวงพิธีกรรมต่างๆของชาวบ้าน รวมถึงการสร้างความบันเทิงให้กับผู้คนในสังคม เช่นการแสดงลิเก ละคร โขน เพลงพื้นเมืองต่างๆ
เมื่อสังคมยุคปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นาฏศิลป์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองจากที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างในอดีต มาเป็นบทบาททางด้านต่างๆที่สามารถจำแนกบทบาทให้เห็นได้ ดังนี้

1. บทบาททางการศึกษา การแสดงออกทางด้านศิลปะนั้นถือเป็นศาสตร์และศิลป์ ในอดีต
การเรียนของศาสตร์แขนงนี้มักอยู่ในแวดวงที่จำกัดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการเปิดกว้างมากขึ้น มีการจัดตั้งสถานศึกษาสำหรับการสอนนาฏศิลป์ขึ้นหลายแห่ง ทั้งของรัฐ ที่สอนทางด้านนาฏศิลป์ มีหน้าที่ทำนุบำรุงรักษาศิลปะโดยตรง สถานศึกษาของเอกชนที่สอนนาฏศิลป์ให้แก่กุลบุตรกุลธิดา เพื่อส่งเสริมความสามารถและบุคลิกภาพรวมถึงส่งเสริมลักษณะนิสัย
2. บทบาททางธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งบทบาทนี้เห็นได้อย่างชัดเจน ในการ
แสดงตามงานเทศกาลท่องเที่ยวต่างๆ ที่ภาครัฐหรือเอกชนจัดขึ้น จะต้องมีนาฏศิลป์ไทยเข้าไป
เกี่ยวข้องอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบมหรสพสมโภชหรือ การแสดงแสง เสียงสื่อและผสม โดยศิลปะการแสดงเหล่านี้ถือเป็นจุดขายที่สำคัญ นอกเหนือจากนี่ยังมีโรงละครของเอกชนเปิดทำการแสดงเพื่อให้ชาวต่างชาติหรือผู้ที่สนใจเข้าชมดำเนินการในรูปแบบธุรกิจอย่างชัดเจน
3. บทบาทในการอนุรักษ์และเผยแพร่เอกลักษณ์ของชาติ ปัจจุบันวัฒนธรรมต่างชาติมี
บทบาทอย่างมากในสังคมไทย และเป็นไปได้ว่าอนาคตประเทศไทยอาจถูกกลืนทางวัฒนธรรมได้ เพื่อให้ความเป็นไทยคงอยู่ สิ่งที่จะช่วยได้นั่นคือ เอกลักษณ์ของชาติในด้านต่างๆ โดยใช้วิธีการเผยแพร่ อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
จะเห็นได้ว่านาฏศิลป์ไทยได้ปรับตัวให้ดำรงอยู่ได้ในสังคมไทย ช่วยสร้างอาชีพให้กับผู้คน สร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างสังคมหนึ่งกับอีกสังคมหนึ่ง ส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติให้ชัดเจน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าประเทศ และอื่นๆอีกมากมายที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม จึงเห็นได้ว่า สิ่งที่บางท่านอาจมองอย่างไม่เข้าใจ ดูว่าไม่เป็นสากลหรือเข้ากับยุคสมัย แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญระดับชาติที่ช่วยให้ชาติไทยดำรงอยู่ได้ เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองไม่เหมือนประเทศใด จงภูมิใจและช่วยกันรักษาสิ่งนี้ให้คงอยู่กับประเทศไทยต่อไปตราบนานเท่านาน สมดัง ปรัชญาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน ในโอกาสครบรอบ 60 ปี วิทยาลัยนาฏศิลป ว่าไว้ดังนี้


“ สาธุ โข สิปปก นาม อปี ยาทิสกีทิส “
“ ขึ้นชื่อว่าศิลปะ แม้เช่นใดเช่นหนึ่งก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ”

ไม่มีความคิดเห็น: